10 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจซื้อเรือคายัคลำแรก

10 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจซื้อเรือคายัคลำแรก

การซื้อเรือคายัคลำแรกอาจดูเป็นเรื่องยากในการตัดสินใจ หลายคนจึงอยากได้แนวทางคำแนะนำที่ตอบโจทย์ในใจมากที่สุด บทความต่อไปนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ก็อยากให้เพื่อนๆ ที่กำลังตัดสินใจได้อ่านกันนะครับ 

KAYAK

กับ 10 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจซื้อเรือคายัคลำแรก

1. งบประมาณ และผู้จัดจำหน่าย : แน่นอนว่าเราสามารถหาซื้อเรือคายัคได้ในหลากหลายช่วงราคาตามท้องตลาด มีตั้งแต่หลักพันบาทขึ้นไป เราควรจะตั้งงบประมาณไว้ในใจและดูในเรื่องของอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่เราจะได้รับ เพราะการพายคายัคนั้นเราไม่ได้มีแค่เรือ เรายังต้องมี ไม้พาย, ชูชีพ และเบาะที่นั่ง แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดีว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องของราคา ยังมีเรื่องของการบริการหลังการขาย, อะไหล่ และยังมีเรื่องของอุปกรณ์เสริมต่างๆ หากคุณไม่อยากเสียเวลาหรือเสียเงินซ้ำซ้อนหลายต่อ ก็ควรเลือกผู้จัดจำหน่ายที่มีตัวเลือกเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

 

2. ประเภทของเรือ : เราอาจเคยได้ยินคำว่า SIT ON TOP ( คายัคนั่งบน ) และ SIT INSIDE ( คายัคนั่งใน ) พูดง่ายๆ ก็คือแบบ SIT ON TOP เราสามารถวางเบาะลงไปด้านบนของเรือและนั่งพายได้เลย ส่วน SIT INSIDE คือเราต้องสอดขาและลำตัวเข้าไปด้านในของเรือ เรือ SIT ON TOP นั้นส่วนใหญ่เราจะใช้พายในกิจกรรมสันทนาการทั่วไป เช่นพายเล่นออกกำลัง ไปแคมป์ปิ้ง หรือตกปลาเพราะมีพื้นที่ในการวางของมากและสะดวกต่อการเคลื่อนไหว เรือ SIT INSIDE นั้นส่วนใหญ่จะเป็นนักพายที่พอมีประสบการณ์ในการพายมาบ้างแล้วพอสมควร เป็นเรือประเภทที่ใช้เดินทางไกล หรือต้องการความเร็ว

 

3. ขนาด : ในเรื่องของขนาดคุณต้องคำนึงถึงหลายสิ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่จะพาย ( แม่น้ำ, ลำคลอง, ทะเล, บึง ) ระยะเวลาในการทำกิจกรรม แบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่

3.1ความยาว : เรือขนาด 9 - 10 ฟุต ถือเป็นเรือขนาดเล็ก น้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายง่าย เหมาะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวน้อย เหมาะกับการพายในพื้นที่เล็ก แต่อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของการรักษาแนวเส้นตรงในการพาย ( การรักษาแนวเส้นตรง ถือเป็นความสามารถของเรือที่มีความยาวมากกว่า ) เรือขนาด 11 - 12 ฟุต เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ใหญ่โดยทั่วไป ทั้งในเรื่องของความสมดุล การรักษาแนวเส้นตรง ความคล่องตัว พื้นที่วางสัมภาระ และยังเหมาะกับสภาพพื้นที่ที่หลากหลาย เรือขนาด 12 ฟุตขึ้นไป เหมาะแก่การพายระยะไกลและเป็นน่านน้ำเปิด เป็นเรือที่สามารถรักษาแนวเส้นตรงได้ดีที่สุด พื้นที่เก็บของก็มากขึ้น ( ขึ้นอยู่กับประเภทของเรือ )

3.2 ความกว้าง : แม้ว่าความกว้างจะขึ้นอยู่กับการออกแบบเรือในแต่ละรุ่น เรือยิ่งแคบก็ยิ่งทำให้พายได้เร็วแต่ก็จะมีความเสถียรน้อยลง เรือที่มีความกว้าง 32 นิ้วขึ้นไป อาจจะมีความหน่วงกว่าแต่ก็มีความเสถียรมากกว่าขึ้นอยู่กับการออกแบบท้องเรือ เรือบางรุ่นถูกออกแบบมาให้ท้องแบนเพื่อความเสถียรแต่ก็อาจจะพายยากสักหน่อย ถ้าจะใช้ในกิจกรรมสันทนาการพายเล่นสนุกๆ หรือเพื่อการตกปลา ขอแนะนำเรือที่มีความกว้าง 30 - 32 นิ้ว แต่ถ้าต้องการเรือที่รับนำหนักได้มากขึ้นหรือต้องการยืนตีเหยื่อ ก็แนะนำเรือที่มีความกว้าง 32 - 34 นิ้ว

3.3 ความจุ / การรับน้ำหนัก : จำไว้เสมอว่าความจุหรือการรับน้ำหนักในคำโฆษณานั้น จะรวมน้ำหนักของตัวคุณและอุปกรณ์ทั้งหมด เช่น เรือรับน้ำหนักได้ 150 กิโล น้ำหนักตัวอยู่ที่ 80 กิโล คุณจะเหลือความจุอยู่ที่ 70 กิโล ซึ่งไม่มากนักสำหรับสัมภาระ และยิ่งถ้าคุณเป็นนักตกปลาแล้วด้วยยิ่งต้องให้ความสำคัญ เพราะไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ตกปลา ถังน้ำแข็งสำหรับใส่อาหาร เครื่องดื่ม และต้องเผื่อน้ำหนักของปลาถ้าหากตกได้

 

4. วัสดุ : เรือคายัคส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติก เพราะมีความทนทานดูแลง่ายซ่อมแซมง่าย คายัคบางรุ่นอาจทำมาจากวัสดุพิเศษ เช่น ไฟเบอร์กลาส แต่ก็มีราคาค่อนข้างแพงและอาจเกิดความเสียหายได้ง่ายกว่าและซ่อมแซมยาก ดังนั้นถ้าต้องการเรือสำหรับพายเล่นหรือตกปลา แนะนำว่าเรือที่ทำจากพลาสติกก็เพียงพอ

 

5. ที่นั่ง และเบาะ : ในระยะเวลาที่ผ่านๆมา เราอาจจะเห็นเรือคายัคส่วนใหญ่มาพร้อมกับที่นั่งเบาะโฟมสีดำ แต่ปัจจุบันเรามีเรือที่มาพร้อมกับที่สไตล์เก้าอี้สนามซึ่งสามารถปรับระดับได้และมีพนักพิงซึ่งนั่งสบาย และยังทำให้คุณไม่เปียกน้ำตอนนั่งด้วย

 

6. ไม้พาย : การเลือกไม้พายนั้นจะยึดตามส่วนสูง, ความยาวของช่วงแขน และความกว้างของเรือเป็นหลัก รวมถึงท่านั่งในการพาย จริงๆอยากจะแนะนำว่าให้คุณไปทดลองจากของจริงมากกว่า แต่ถ้าไม่มีเวลาหลักการที่ดีในการตัดสินใจคือ ถ้าส่วนสูงอยู่ที่ตั้งแต่ 150 – 180 ซม. และความกว้างของเรืออยู่ที่ 32 นิ้ว ก็ให้เลือกไม้พายที่ความยาว 240 ซม. แต่ถ้าเรือของคุณกว้างน้อยกว่า 32 นิ้ว และส่วนสูงน้อยกว่า 180 ซม. ไม้พายขนาด 230 ซม. ก็กำลังดี เราสามารถหาไม้พายได้มากมายหลายแบบในท้องตลาดทั้งที่ทำมาจาก คาร์บอนไฟเบอร์ หรือแบบที่ปรับขนาดความยาวได้ แต่ถ้าคุณเป็นนักคายัคมือใหม่ขอแนะนำว่าไม้พายที่ทำมาจากไฟเบอร์กลาสผสมกับไนล่อนก็เพียงพอ

 

7. การตกปลา : ต้องใช้อะไรบ้างในการเปลี่ยนคายัคของคุณให้กลายเป็นคายัคตกปลา? ไม่ได้ยุ่งยากเลยแค่มีอุปกรณ์ตกปลา กระบอกปักคัน และใจรักในการตกปลา กระบอกปักคัน คือ อุปกรณ์เสริมสำหรับติดตั้งบนเรือเพื่อยึดให้คันเบ็ดของคุณอยู่กับที่ คายัคในปัจจุบันส่วนมากมักจะมีการติดตั้งมาให้แล้ว แต่อีกสิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ถังแช่เย็นเพื่อรักษาความสดของปลา คีมคีบปลา สมอเรือเพื่อรักษาตำแหน่งของคุณในกรณีที่มีลมแรง กล่องหรือกระเป๋าสำหรับใส่เหยื่อ จริงๆแล้วอุปกรณ์เสริมนั้นมีมากมายเป็นร้อยเป็นพัน แต่อยากจะแนะนำให้ใจเย็นๆก่อน ในครั้งแรกให้ใช้เฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นจริงๆก็พอ และค่อยๆปรับแต่งให้เข้ากับสไตล์การตกปลาของคุณ

 

8. ความปลอดภัย : คือสิ่งแรกที่ต้องนึกถึง การพายคายัคคือหนึ่งในกีฬาที่ปลอดภัยที่สุดในโลก แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะทำให้มันเป็นยังไง ในบางประเทศมีกฏหมายให้สวมอุปกรณ์ชูชีพและพกนกหวีดตลอดเวลาที่อยู่บนคายัค และถ้าคุณคิดจะพายเรือคายัคตอนช่วงพลบค่ำหรือช่วงดึก ก็ควรจะมีธงและติดไฟ 360 องศาเพื่อแสดงตำแหน่ง กระเป๋ากันน้ำสำหรับใส่เสื้อผ้าสำรอง, ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินและโทรศัพท์มือถือ และควรจะมีมีดพกเอนกประสงค์ติดไว้กับเสื้อชูชีพ และที่สำคัญ อย่าลืมตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเรือทุกครั้ง

 

9. พื้นที่เก็บของ : คายัคส่วนใหญ่จะมีที่เก็บของทั้งแบบภายในและภายนอก ที่เก็บของภายใน คือ ช่องเก็บของที่มีฝาปิดสำหรับเก็บของที่สำคัญ เช่น ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ที่ไม่อยากให้เปียกน้ำ ช่องเก็บของภายนอก คือ พื้นที่วางของบนเรือซึ่งจะมีสายรัดเพื่อป้องกัน เหมาะกับของอย่างเช่น ถังแช่เย็น อุปกรณ์ตกปลา หรือ ของที่ใช้บ่อยๆ และแอดมินก็ขอแนะนำให้มีกระเป๋ากันน้ำดีๆสักใบ สำหรับใส่ของมีค่าพกติดตัว และ Crate Bag สำหรับนักตกปลา

 

10. การดูแลรักษา : เรือคายัคที่ผลิตจากวัสดุคุณภาพสูงย่อมมีความทนทานและยิ่งถ้าได้รับการดูแลรักษาที่ดีด้วยแล้วก็จะยิ่งเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น การเก็บคายัคที่ถูกวิธีคือ ล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งานผึ่งลมให้แห้ง เก็บในที่ร่มวางเรือหงายท้องขึ้นหรือวางตะแคงก็ได้ และควรปิดช่องต่างๆทุกช่องเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ไม่พึงประสงค์ พวกนก หนู งู เข้าไปทำรังได้

เมื่ออ่านบทความนี้จบแล้วเพื่อนๆ ก็น่าจะพอได้แนวทางการตัดสินใจในการซื้อเรือคายัดลำแรกบ้างไม่มากก็น้อย ยังไงก็ขอให้มีความสุขกับการเป็น KAYAKER นะครับ

FEELFREE KAYAKS THAILAND TEAM

#FEELFREE #FEELFREEKAYAKS #KAYAK

Back to blog

Leave a comment